เราใช้คุกกี้เพื่อทำให้ประสบการณ์ของคุณดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ของ e-Privacy เราจำเป็นต้องขอความยินยอมจากคุณในการตั้งค่าคุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติม
ทำความรู้จักคอลเลกชัน นาฬิกา Rolex ฉบับปี 2023 | Auction House
ทำความรู้จักคอลเลกชันนาฬิกา Rolex | Auction House
ดูวิดีโอ คอลเลกชัน นาฬิกา Rolex ฉบับปี 2023 | Auction House
อย่าลืมกด ติดตาม เพื่อรับชมวิดีโอที่น่าสนใจก่อนใคร
Rolex แบรนด์นาฬิกาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดนาฬิกาหรู สำหรับคนที่เพิ่งเข้าวงการนาฬิกาอาจจะสับสนว่าเรือนไหนอยู่ในคอลเลกชันไหน โดยในวันนี้ Auction House ได้ทำ Guideline ฉบับล่าสุดปี 2023 เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความเป็นมาของแต่ละคอลเลกชัน และเราจะมาแนะนำวิธีการสังเกตเพื่อแยกนาฬิกาในแต่ละคอลเลกชันของ Rolex ให้ทุกคนได้ดูไปพร้อม ๆ กัน
คอลเลกชัน Oyster Perpetual
คอลเลกชัน Oyster Perpetual นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในคอลเลกชันที่สำคัญ เพราะเป็นต้นแบบที่ทำให้ Rolex ได้ต่อยอดจนกลายเป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งนาฬิกา Oyster ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 1926 และเป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่สามารถกันน้ำและกันฝุ่นได้ด้วยโครงสร้างตัวเรือนแบบพิเศษ และได้กลายเป็นคอลเลกชันที่เก่าแก่ที่สุดของ Rolex
โดยในปัจจุบัน Oyster Perpetual ก็ยังคงการดีไซน์ที่คลาสสิกเรียบง่ายไว้ได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากหน้าปัดที่มีเพียงเข็มชั่วโมง นาที และวินาที มีขอบตัวเรือนที่เรียบเนียน แต่ก็มีการเพิ่มสีสันให้มีความสดใสมากยิ่งขึ้นด้วยหน้าปัดที่มีสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว เหลือง หรือส้ม
รวมถึงหน้าปัดลาย Motif ที่ออกมาใหม่ในปี 2023 นี้ ที่ชื่อว่า Celebration ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้คอลเลกชัน Oyster Perpetual กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหน้าปัดบางสีก็มีราคา Resell ที่สูงมาก
โดยจุดสังเกตง่าย ๆ ของคอลเลกชันนี้ก็คือ รูปทรงตัวเรือน Oyster ที่มีเพียงฟังก์ชันบอกเวลาเป็นชั่วโมง นาที และวินาทีเพียงเท่านั้น
คอลเลกชัน Datejust
Datejust เป็นคอลเลกชันนาฬิกาที่ได้รับการต่อยอดรูปทรงตัวเรือนมาจาก Oyster โดยเป็นคอลเลกชันแรกของ Rolex ที่มีวันที่ จึงถูกตั้งชื่อว่า "Datejust" ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 1945 โดยมีหน้าต่างวันที่และขอบ Bezel แบบ “เซาะร่อง” ซึ่งได้กลายมาเป็นดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Rolex ในท้ายที่สุด และยังมาพร้อมกับสาย Jubilee อันสวยงาม
ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเพิ่มเลนส์ Cyclops ตรงหน้าต่างวันที่เพื่อขยายการมองเห็นตัวเลขให้ใหญ่กว่าเดิม ตัวเรือนจะมีให้เลือกหลากหลายวัสุด และหลากหลายหน้าปัด สำหรับนาฬิกา Datejust จะเป็นคอลเลกชันที่คนสับสนมากที่สุด เพราะมีความคล้ายกับ Oyster เป็นอย่างมาก แต่จุดสังเกตง่าย ๆ คือ หากเจอนาฬิกา Rolex ที่มี “แค่วันที่” ขอให้รู้เลยว่านี่คือ Datejust
คอลเลกชัน Day-Date
Day-Date ถูกต่อยอดมาจาก Datejust โดยรูปทรงตัวเรือนจะเหมือนกับ Datejust และใช้วัสดุมีค่า แต่จะมีการเพิ่มฟังก์ชันวันเข้ามา ทำให้มีทั้งฟังก์ชันวันและวันที่อย่างครบถ้วน จึงเป็นที่มาของชื่อ Day-Date โดยคอลเลกชัน Day-Date ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 1956 และมีชื่อเล่นว่า “President” โดดเด่นด้วยตัวเรือนที่มาพร้อมกับหน้าต่างแสดง “วันของสัปดาห์ที่สะกดแบบเต็มคำ” ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา เสริมด้วยหน้าต่างวันที่และขอบตัวเรือนเซาะร่องเช่นเดียวกับ Datejust วัสดุตัวเรือนและหน้าปัดก็มีให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งหมดมาพร้อมกับสาย President
ซึ่งในปี 2023 ล่าสุดนี้ ทาง Rolex ก็ได้มีการอัปเดตคอลเลกชันใหม่ โดยการใช้วัสดุหินที่หลากหลายมาทำให้หน้าปัดมีสีสันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อเวนจูรีนสีเขียว คาร์เนเลี่ยนสีส้ม และเทอร์ควอยซ์สีฟ้า
แต่รุ่นที่น่าสนใจและโดดเด่นที่สุดก็คือ หน้าปัด Jigsaw Puzzle Motif ที่มีความพิเศษตรงหน้าต่างวันของสัปดาห์ที่อยู่บริเวณ 12 นาฬิกา ได้เปลี่ยนเป็นคำคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และหน้าต่างวันที่บริเวณ 3 นาฬิกา ก็ถูกเปลี่ยนจากตัวเลข แทนที่ด้วยไอคอนอิโมจิที่มากถึง 31 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นการปรับโฉมที่มีความแปลกใหม่มากที่สุดของ Rolex ในปีนี้เลย
ส่วนจุดสังเกตง่าย ๆ ของคอลเลกชัน Day-Date คือ ฟังก์ชันแสดงวันของสัปดาห์ที่สะกดแบบเต็มคำ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาพร้อมหน้าต่างวันที่ และขอบตัวเรือนเซาะร่อง
คอลเลกชัน Sky-Dweller
Sky-Dweller คอลเลกชันที่อัดแน่นด้วยนวัตกรรมล่าสุด ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2012 และเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่มาพร้อมกลไกสุดล้ำ จุดเด่นอยู่ตรงหน้าปัดบอกเวลาโซนที่ 2 แบบ 24 ชั่วโมงที่อยู่ตรงกลางตัวเรือนซึ่งสามารถอ่านค่าได้จากสามเหลี่ยมกลับหัวใต้โลโก้ Rolex มีหน้าต่างวันที่บริเวณ 3 นาฬิกา นอกจากนี้ยังมีแถบสีแดงตรงปลายหลักชั่วโมงที่จะใช้บอกเดือน ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้แตกต่างจากรุ่นอื่นคือมีฟังก์ชัน Annual Calendar ที่สามารถบอกวันที่ในแต่ละเดือนได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าเดือนนั้นจะมี 30 หรือ 31 วัน แต่จะต้องปรับวันที่เองปีละครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะนาฬิกาไม่สามารถบอกได้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์แต่ละปีนั้นมี 28 หรือ 29 วัน
ซึ่งในปี 2023 นี้ ทาง Rolex ก็ได้อัปเดตกลไกของ Sky Dweller เป็น Calibre 9002 ทำให้มีพลังงานสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 72 ชั่วโมง และได้เพิ่มหน้าปัดสีใหม่สำหรับคอลเลกชันนี้ด้วย คือ สีเขียวมินต์ จับคู่กับวัสดุ White Rolesor ที่มีการใช้ทั้ง Oystersteel และ White Gold ส่วนหน้าปัดสีฟ้า-เขียว จับคู่กับวัสดุ Everose Gold
ส่วนจุดสังเกตง่าย ๆ ของคอลเลกชันนี้ อยู่ที่ขอบหน้าปัดแบบเซาะร่อง และหน้าปัดย่อยวงกลมที่บอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง
คอลเลกชัน 1908
คอลเลกชัน 1908 นี้ เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกใน 2023 นี้เอง มาแทนคอลเลกชัน Cellini ส่วนชื่อคอลเลกชัน 1908 นี้ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปีที่เครื่องหมายการค้า Rolex ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในประเทสสวิตเซอร์แลนด์ โดย 1908 นี้เป็นหนึ่งในนาฬิการ่วมสมัยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Oyster Perpetual ในปี 1931 ผสมผสานการดีไซน์แบบคลาสสิกเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างลงตัว ทำให้รูปลักษณ์ของนาฬิกานี้มีความสวยงาม เรียบหรู และอยู่เหนือกาลเวลา
นอกจากนี้แล้วยังโดดเด่นด้วยด้านหลังของตัวเรือนที่เป็นแบบโปร่งใส ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับแฟนคลับเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกของ Rolex ยุคใหม่ที่ได้โชว์กลไกด้านหลังตัวเรือน ซึ่ง Calibre 7140 นี้ ถูกขัดแต่งอย่างประณีต พร้อมกับ Rotor weight ที่ทำจากทอง และสามารถสำรองพลังงานได้นาน 66 ชั่วโมง
จุดสังเกตของคอลเลกชันนี้จะอยู่ที่รูปทรงเป็น Dress Watch สุดคลาสสิก มีหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีบริเวณ 6 นาฬิกา หากเห็นหน้าปัดย่อยวินาทีให้แน่ใจได้เลยว่านี่คือนาฬิกาจากคอลเลกชัน 1908
คอลเลกชัน GMT-Master II
GMT-Master II คือนาฬิกาที่บอกเวลาได้สองไทม์โซนด้วยสีทูโทน โดดเด่นด้วยขอบหน้าปัดบอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง โดยสองสีทูโทนนี้จะชื่อเล่นมากมายจากแฟนคลับ เช่น แบทแมท (สีน้ำเงิน-ดำ), รูทเบียร์ (สีดำ-น้ำตาล), หรือ เป๊ปซี่/โค้ก และ สไปรท์ (สีแดง-น้ำเงิน) หรือสีดำล้วนที่ถูกยกเลิกการผลิตไปแล้ว
โดยคอลเลกชันนี้เปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในฐานะนาฬิกาของสายการบิน Pan American World Airways ซึ่งรุ่น I และ II นั้นมีหน้าตาที่เหมือนกันแต่จะแตกต่างกันที่วัสดุขอบหน้าปัด โดยรุ่น II จะใช้เซรามิกที่ทนทานต่อรอยขีดข่วนและคงสีให้ไม่ซีดจางได้ดีกว่ารุ่น I ที่ใช้อะลูมิเนียม มาพร้อมขนาดตัวเรือนอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร
และในปี 2023 นี้ทาง Rolex ก็ได้ปรับกลไกให้มีพลังงานสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 70 ชั่วโมง และเพิ่มนาฬิกาเข้ามาใหม่ 2 เวอร์ชัน นั่นก็คือ ตัวเรือน Yellow Gold 18K และตัวเรือน Yellow Rolesor ที่ผสานระหว่างวัสดุ Steel กับ Yellow Gold เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
ส่วนวิธีการสังเกตคอลเลกชัน GMT-Master นั้นก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่มองเห็นเข็ม GMT และขอบตัวเรือนที่เป็นวัสดุเซรามิก หรือไม่ก็ให้สังเกตที่ขอบสองสีทูโทน ก็จะรู้ได้เลยว่านี่คือนาฬิกาจากคอลเลกชัน GMT Master II
คอลเลกชัน Explorer
Explorer ถูกผลิตมาให้มีความทนทานเพื่อนักสำรวจทุกคน เปิดตัวครั้งแรกในปี 1953 โดย Explorer นั้นมีทั้งหมดสองรุ่นคือรุ่น I และ II ซึ่งทั้งสองรุ่นสามารถกันน้ำ กันกระแทก กันสนามแม่เหล็ก และมีความเสถียรสูงเมื่อต้องเจอกับความผันผวนของอุณหภูมิ ซึ่งเหมาะสำหรับนักสำรวจอย่างยิ่ง
หน้าตาของ Explorer I มีดีไซน์คลาสสิกและโดดเด่นด้วยหน้าปัดสีดำพร้อมหลักชั่วโมงแบบแท่งและแบบตัวเลขที่ตำแหน่ง 3, 6, และ 9 นาฬิกาที่เคลือบสารเรืองแสงเพื่อให้อ่านเวลาได้ง่ายดาย และในปี 2023 นี้ ทาง Rolex ก็ได้เพิ่มขนาดหน้าปัด 40 มิลลิเมตรเข้ามาในคอลเลกชัน Explorer I เป็นครั้งแรก มาพร้อมกลไกใหม่ Calibre 3230 ที่มีพลังงานสำรองนานถึง 70 ชั่วโมง
ส่วนรุ่น Explorer II จะแตกต่างจาก Explorer I อย่างสิ้นเชิง เพราะถูกปรับโฉมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 42 มิลลิเมตร และเพิ่มฟังก์ชัน GMT เข้ามา ทำให้มีหน้าตาเหมือนกับรุ่น GMT-Master โดย Explorer II นั้น มีทั้งหน้าปัดสีดำและสีขาว มาพร้อมมาร์คเกอร์เรืองแสงและขอบหน้าปัดสตีลที่บอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถอ่านไทม์ไซนได้ผ่านเข็มสีส้ม นอกจากนี้ยังมีหน้าต่างวันที่พร้อมเลนส์ Cyclops ที่ช่วยขยายการมองเห็นได้เป็นอย่างดี
ส่วนการวิธีแยก Explorer ออกจากนาฬิกา Rolex Sport อื่น ๆ นั้น ในปัจจุบันให้สังเกตว่าจะมีเลขอารบิกที่ตำแหน่ง 3, 6 และ 9
สำหรับรุ่น Explorer I ส่วนวิธีการแยก Explorer II ออกจาก GMT-Master ก็ให้สังเกตที่ขอบหน้าปัดที่เป็นสตีล กับเข็ม GMT สีส้มที่บ่งบอกว่านี่คือนาฬิกา Explorer II นั่นเอง
คอลเลกชัน Air-King
Air-King ราชันย์แห่งท้องฟ้ากับนาฬิกานักบิน เปิดตัวครั้งแรกในปี 1958 เพื่อให้เกียรติแก่แวดวงการบินในช่วงทศวรรษที่ 1930 ที่นักบินได้สวมใส่นาฬิกาของ Rolex ในขณะทำการบิน โดยจุดเด่นของนาฬิกาอยู่ที่หน้าปัดสีดำและมาร์คเกอร์พิเศษที่เป็นการผสมผสานระหว่างตัวเลขชั่วโมง ตัวเลขนาที และรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่แตกต่างเด่นชัดที่สุดของนาฬิการุ่นนี้
โดยชุดเข็ม หลักชั่วโมงสามเหลี่ยม รวมทั้งตัวเลข 3, 6 และ 9 นี้ ถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสงที่จะช่วยให้สามารถอ่านเวลาในที่มืดได้อย่างชัดเจน มาพร้อมตัวเรือนที่ดีไซน์สไตล์นาฬิกาคลาสสิกกับเข็มวินาทีและฟอนต์ Rolex สีเขียวตัดกับสีของหน้าปัดได้อย่างลงตัว มีขนาดตัวเรือนอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร
หลาย ๆ คนอาจจะสับสนระหว่าง Air-King และ Explorer I โดยเฉพาะรุ่นวินเทจ แต่วิธีการสังเกตง่าย ๆ ในปัจจุบันก็คือ Air-King เป็นรุ่นเดียวที่มีตัวเลขแสดงนาทีขนาดใหญ่ พร้อมกับโลโก้ Rolex สีเขียว หากเห็นนาฬิกาที่มีลักษณะเด่นเช่นนี้ให้มั่นใจได้เลยว่านี่คือ Air-King อย่างแน่นอน
คอลเลกชัน Submariner
Submariner นาฬิกาดำน้ำที่สุดแสนจะ Iconic และเป็นที่นิยมมากที่สุดของ Rolex เปิดตัวครั้งแรกในปี 1953 โดยถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของ Rolex ที่สามารถผลิตนาฬิกากันน้ำได้ลึกถึง 100 เมตรเป็นครั้งแรก โดยมีทั้งฟังก์ชันและหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์
ซึ่งในปัจจุบัน Submariner สามารถกันน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร มีจุดเด่นที่ชัดเจนอยู่ที่ขอบหน้าปัดซึ่งมีมาร์คเกอร์ทรงสามเหลี่ยมที่มีทรงกลมอยู่ด้านในตรงตำแหน่ง 12 นาฬิกา และสเกลซึ่งแสดงตัวเลขถึง 60 นาทีที่สามารถหมุนได้ทิศทางเดียวเพื่อใช้จับเวลาว่าดำน้ำไปนานเท่าไรแล้ว มาพร้อมชุดเข็มและมาร์คเกอร์ที่เคลือบสารเรืองแสงไว้เพื่อให้สามารถอ่านเวลาได้อย่างชัดเจนทั้งในที่มืดและใต้น้ำ
ในปัจจุบันตัวเรือนมีขนาดอยู่ที่ 41 มิลลิเมตร และถูกแบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นปกติที่ไม่มีหน้าต่างวันที่ และรุ่น Date ที่มีหน้าต่างวันที่เพิ่มเข้ามา มาพร้อมขอบหน้าปัดให้เลือก 3 สี คือ ดำ น้ำเงิน และเขียว พร้อมวัสดุ Steel ทองคำ หรือแบบทูโทน ส่วนรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสีเขียวที่มีชื่อเล่นว่า “Starbuck” มีราคา Retail อยู่ที่ 390,500
จุดสังเกตของ Submariner อยู่ที่ขอบตัวเรือน ที่มีการแสดงตัวเลขจับเวลา 60 นาที และมาร์คเกอร์ทรงสามเหลี่ยมที่มีทรงกลมอยู่ด้านในตรงตำแหน่ง 12 นาฬิกา
คอลเลกชัน Sea-Dweller และ Deepsea
Sea-Dweller คือนาฬิกาที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อนักดำน้ำมืออาชีพ และเป็นการต่อยอดจาก Submariner เพราะ Sea-dweller สามารถลงน้ำได้ลึกถึง 1,220 เมตร ส่วน Deepsea นั้นเกิดมาเพื่อโครงการ Deepsea Challenge ซึ่งใช้ในการสำรวจห้วงทะเลลึก ทำให้นาฬิการุ่นนี้สามารถดิ่งลงมหาสมุทรได้ลึกถึง 3,900 เมตร!
ส่วนเรื่องหน้าตานั้น ทั้ง Sea-Dweller และ Deepsea ต่างมีดีไซน์ที่คล้ายกับ Submariner อย่างมาก จุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือความหนาซึ่งทั้งคู่นั้นหนากว่า Submariner เนื่องจากต้องมีตัวระบายก๊าซฮีเลียม (Helium Escape Valve) และทั้งคู่ยังมีขอบ Bezel ที่มีเส้นสเกลละเอียดกว่า Submariner โดยปัจจุบันตัวเรือน Sea-Dweller มีขนาด 43 มิลลิเมตร ในขณะที่ Deepsea มีขนาด 44 มิลลิเมตร
ส่วนวิธีสังเกตรุ่นนี้ คือ จะมีตัวเรือนที่หนากว่า Submariner และมีตัวระบายก๊าซฮีเลียม (Helium Escape Valve) อยู่ข้างตัวเรือนนั่นเอง
คอลเลกชัน Yacht-Master
Yacht-Master จะถูกแบ่งออกเป็นสองรุ่นคือ Yacht-Master I และ Yacht-Master II ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
Yacht-Master I ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 โดยทาง Rolex ตั้งใจยกระดับ Submariner นาฬิกาดำน้ำให้มีความหรูหรามากขึ้น จึงสร้างสรรค์ Yacht-Master I ขึ้นมา ด้วยการอัปเกรดวัสดุขอบตัวเรือนไปใช้วัสดุมีค่า อย่างเช่น ทองคำ พร้อมขอบหมุนได้สองทิศทาง ซึ่งทาง Rolex ตั้งใจให้เป็นนาฬิกาที่สามารถสวมใส่ทำกิจกรรมทางน้ำได้ เช่น ใส่ขับเรือ Yacht มากกว่าใส่ดำน้ำ ดังนั้นนาฬิกาจึงสามารถกันน้ำได้เพียง 100 เมตรเท่านั้น
โดยในปัจจุบันรุ่น Yacht-Master I ก็จะมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 37, 40 และ 42 มิลลิเมตร มาพร้อมสายให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมถึงสายยาง Oysterflex ที่ทาง Rolex ได้พัฒนาขึ้นมาให้มีความทนทานแบบพิเศษ ส่วนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในปี 2023 นี้ มาพร้อมวัสดุใหม่ไทเทเนียม RLX ขนาด 42 มิลลิเมตร ขอบตัวเรือน Cerachrom เป็นเซรามิกสีดำด้าน ที่ให้ความแตกต่างอย่างสวยงาม พร้อมกลไกใหม่ที่สามารถสำรองพลังงานได้นาน 70 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่านาฬิการุ่นใหม่นี้จะกลายมาเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในคอลเลกชันนี้เลย
สำหรับ Yacht-Mater II ถูกเปิดตัวในปี 2007 เป็นนาฬิกาที่มีฟังก์ชันพิเศษ นั่นก็คือ การนับเวลาแบบนับถอยหลังเป็นครั้งแรกของโลก โดยขอบตัวเรือนจะมีตัวเลข 0 – 10 พร้อมเข็มจับเวลาขนาดใหญ่ ซึ่งมีไว้เพื่อนับเวลาถอยหลังโดยที่เราสามารถตั้งเวลานับถอยหลังได้ตั้งแต่ 1 – 10 นาที ถือเป็นฟังก์ชันสุดพิเศษเอกสิทธิ์เฉพาะ Yacht-Master II เท่านั้น เสริมด้วยหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา มาพร้อมตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตร
สำหรับจุดสังเกตของ Yacht-Master ทั้งสองรุ่นนี้ ให้ดูที่ขอบตัวเรือน โดยขอบของ Yacht-Master I จะมีความด้านและมีตัวเลขที่ใหญกว่า Submariner ส่วน Yacht-Master II จะมาพร้อมขอบตัวเรือนสีน้ำเงินและตัวเลข 10 -0 นั่นเอง
คอลเลกชัน Cosmograph Daytona
Cosmograph Daytona เป็นนาฬิกาจับเวลาจาก Rolex ซึ่งถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 1963 ในฐานะนาฬิกาจับเวลาอย่างเป็นทางการประจำสนามแข่งรถ Daytona International Speedway และเป็นอีกหนึ่งนาฬิกาสุด Iconic ของ Rolex
โดยจุดเด่นที่ชัดเจนคือมีหน้าปัดย่อยสำหรับฟังก์ชัน Chronograph สามช่อง บริเวณตรงกลางหน้าปัดที่ใช้บอกวินาที และจับเวลาแบบนาที และชั่วโมง นอกจากนี้ตรงขอบตัวเรือนยังสลักสเกล “Tachymeter” ที่สามารถหาอัตราความเร็วของรถยนต์ได้ ตัวเรือนจะมีขนาดอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร มีวัสดุตัวเรือนและสีหน้าปัดให้เลือกสรรอย่างหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบัน Daytona ได้เป็นนาฬิกา Chronograph ที่มี Waiting list ยาวที่สุดในโลก
โดยล่าสุดในปี 2023 นี้ แบรนด์ Rolex ได้เพิ่มนาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดเข้ามาในคอลเลกชัน ซึ่งมีการปรับแต่งหน้าปัดแบบใหม่ โดยวงแหวนของหน้าปัดย่อยนั้นแคบลง หลักชั่วโมงและชุดเข็มมีความเรียวมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้หน้าปัดมีความสมดุลและทันสมัยยิ่งขึ้น มาพร้อมการตกแต่งหน้าปัดและขอบหน้าปัดที่มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชัน โดยขอบหน้าปัด Cerachrom เป็นแบบหล่อขึ้นชิ้นเดียว ทำให้ภาพรวมของหน้าปัดแบบใหม่ดูมีมิติและมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเพิ่มความพิเศษในเวอร์ชันตัวเรือนแพลทินัมด้วยการที่ด้านหลังตัวเรือนเป็นแบบโปร่งใสซึ่งโชว์ให้เห็นการทำงานของกลไกไขลานอัตโนมัติ Cal.4131 มาพร้อมการสำรองพลังงานนานถึง 72 ชั่วโมง
โดยจุดสังเกตของนาฬิกา Daytona สำหรับมือใหม่ให้สังเกตที่ Pusher หรือ ปุ่มจับเวลาที่อยู่ด้านขวาของตัวเรือน จะทำให้รู้ได้ทันทีว่านี่คือ Daytona
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Rolex มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Patek Philippe มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Audemars Piguet (AP) มือสอง ได้ที่นี่
Auction House เว็บไซต์ ซื้อ - ขาย นาฬิกามือสอง ของแท้ ตรวจสอบราคา Rolex, Patek Philippe, Audemars Piguet (AP), Omega, Panerai, IWC, Hublot, Cartier,RELATED POSTS
Our recent work